วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง




โครงการเศษฐกิจพอเพียง


เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง พอเพียงในอย่างน้อย 7 ประการ คือ1. พอเพียงสำหรับทุกคน ครอบครัว ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบทอดทิ้งกัน2. จิตใจพอเพียง ทำให้รักและเอื้ออาทรคนอื่นได้ คนที่ไม่พอจะรักคนอื่นไม่เป็น และทำลายมาก3. สิ่งแวดล้อมพอเพียง การอนุรักษ์และเพิ่มพูนสิ่งแวดล้อม ทำให้ยังชีพและทำมาหากิจได้ เช่น การทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งได้ทั้งอาหารได้ทั้งสิ่งแวดล้อมและได้ทั้งเงิน4. ชุมชนเข้มแข็งพอเพียง การรวมตัวกันเป็นชุมชนที่เข้มแข็งจะทำให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ เช่น ปัญหาสังคม ปัญหาความยากน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม5. ปัญญาพอเพียง มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ และปรับตัวได้อย่างต่อเนื่อง6. อยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมพอเพียง วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตของกลุ่มที่สัมพันธ์อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย ดังนั้นเศรษฐกิจจึงควรสัมพันธ์และเติบโตขึ้นจากฐานทางวัฒนธรรม จึงจะมั่นคง เช่น เศรษฐกิจของจังหวัดตราด ขณะนี้ไม่กระทบกระเทือนจากฟองสบู่แตก ไม่มีคนตกงาน เพราะอยู่บนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เอื้อต่ออาชีพการทำสวนผลไม้ ทำการประมง และการท่องเที่ยว7. มีความมั่นคงพอเพียง ไม่ใช่วูบวาบ เดี๋ยวจนเดี๋ยวรวยแบบกระทันหัน เดี๋ยวตกงานไม่มีกินไม่มีใช้ ถ้าเป็นแบบนั้นประสาทมนุษย์คงทนไม่ไหวต่อความผันผวนที่เร็วเกิน จึงทำให้สุขภาพจิตเสีย เครียด เพี้ยน รุนแรง ฆ่าตัวตาย ติดยา เศรษฐกิจพอเพียงที่มั่นคงจึงทำให้สุขภาพจิตดีเมื่อทุกอย่างพอเพียงก็เกิดความสมดุล ความสมดุลคือ ความเป็นปกติ และยั่งยืน ซึ่งเราอาจเรียกเศรษฐกิจพอเพียงในชื่ออื่นๆ เช่น เศรษฐกิจพื้นฐาน, เศรษฐกิจสมดุล, เศรษฐกิจบูรณาการ, เศรษฐกิจศีลธรรมนี่แหละคือ เศรษฐกิจทางสายกลาง หรือเศรษฐกิจแบบมัชฌิมาปฏิปทา เพราะเชื่อมโยงทุกเรื่องเข้ามาด้วยกันทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ที่จริงคำว่าเศรษฐกิจ เป็นคำที่มีความหมายที่ดี ที่หมายถึงความเจริญที่เชื่อมโยงกายใจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน แต่ไม่มีการนำเอาคำว่าเศรษฐกิจไปใช้ในลักษณะแบบแยกส่วน ที่หมายถึงการแสวงหาเงินเท่านั้น เมื่อแยกส่วนก็ทำลายส่วนนั้นๆ จนเสียสมดุลและวิกฤติ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่มีคุณค่ายิ่ง และยังมีความลึกซึ้ง ก้าวหน้า และเหมาะสมสำหรับสังคมมากที่สุด ครั้งแรกที่รัฐบาลประกาศว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือยุทธศาสตร์หลักของประเทศ เริ่มต้นหลายคนก็มีปฏิกิริยาในทางลบ คิดว่าจะกลับไปสู่ยุคโบราณอีกครั้ง ไม่สอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์แม้แต่น้อย แต่หลังจากได้อธิบาย ก็มีคนเห็นด้วยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มจะเข้าใจและยอมรับมากขึ้น แต่น่าแปลกใจและน่าชื่นใจที่ภาคธุรกิจสนใจเข้ามาศึกษาและยอมรับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาพื้นฐานสำหรับทุกวงการ ทุกมิติ ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบุคคล เมื่อใช้ในภาคธุรกิจได้ ก็สามารถใช้ในภาคอื่นได้อย่างไม่ต้องสงสัย หลายคนบอกว่าภาคการเมืองน่าจะประยุกต์ใช้เป็นปรัชญาการเมืองด้วย เพราะจะทำให้การเมืองมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นภาคส่วนที่มีแนวโน้มจะเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงน้อยที่สุดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดหากต้องการให้สังคมไทยยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นระบบเท่าเทียมกัน ต้องร่วมมือกันผลักดันในหลายๆ ภาคส่วน และช่วยกันอธิบายว่าปรัชญานี้ไม่ได้เข้าใจยาก เพียงแต่มันมีความลึกซึ้งและมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง
หลักการสำคัญ 5 ประการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ
1.ความพอประมาณ คือ ความพอดีๆ ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป ไม่เติบโตเร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไปและไม่สุดโต่ง 2.ความมีเหตุผล คือ ทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไป อธิบายได้ การส่งเสริมกันในทางที่ดี สอดคล้องกับหลักการพุทธธรรม คือหลักปฏิจจสมุปบาท และอิทัปปัจจยตา ที่กล่าวถึงความเป็นเหตุเป็นผล เพราะมีสิ่งนี้ทำให้เกิดสิ่งนี้ ทุกสิ่งเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย 3.ความมีภูมิคุ้มกันที่ดี จะต้องปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่ควรจะเป็น เช่น เกิดความเสี่ยงเพราะมีความโลภมากเกินไป หรือเสี่ยงเพราะปล่อยกู้มากเกินไป หรือกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไรมากเกินไป จนก่อให้เกิดความเสี่ยง 4.ความรอบรู้ ต้องมีความรอบคอบ มีการใช้ความรู้ใช้วิชาการด้วยความระมัดระวัง ไม่บุ่มบ่าม มีการจัดการองค์ความรู้ที่ดี ดำเนินการอย่างรอบคอบถ้วนทั่ว รอบด้านครบทุกมิติ 5.คุณธรรมความดี เป็นพื้นฐานของความมั่นคง หากเปรียบเป็นต้นไม้ใหญ่ถือเป็นรากแก้วและรากแขนงที่มีขนาดและคุณภาพเพียงพอ โดยมีเศรษฐกิจเป็นรากฝอยคอยหล่อเลี้ยง ที่ประกอบด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มานะอดทนและพากเพียร เราจะเห็นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการง่ายๆ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แม้จะไม่สามารถนำไปใช้ได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อใช้ได้ส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว
นอกจากนี้ เราต้องสืบค้น ค้นหาภูมิปัญญาที่ดีที่มีอยู่และสามารถสืบค้นสิ่งที่ไม่ดีที่เป็นปัญหาด้วย ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน สังคม หรือระดับจังหวัดต่อไป ไม่ว่าเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสวัสดิการ รวมทั้งการจัดการภายในครัวเรือน ในเรื่องของสิ่งที่ดีและสิ่งที่เป็นปัญหา ซึ่งจะเกิดการขยายตัวขยายความร่วมมือต่อไป รวมทั้งสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องด้วย และยังมี 4 ทิศทางสำคัญเพื่อสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันและเป็นการสร้างสังคมที่พึงปรารถนา รวมทั้งสอดรับกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย คือ 1.สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน เราควรทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มองเห็นความทุกข์และความสุขของคนอื่นร่วมกัน มีความเอื้ออาทรไม่นิ่งดูดายเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ซึ่งจะเห็นการเกิดขึ้นของ กองทุนสวัสดิการ, แนวทางอาสาสมัคร จัดว่าอยู่ในกลุ่มนี้ 2.สังคมที่เข้มแข็ง เป็นสังคมที่มีชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ตามลักษณะภูมินิเวศ กลุ่มคนและประเด็น ซึ่งจะพบงานที่เกี่ยวข้องคือการทำงานเรื่องเด็กและชุมชน 3.สังคมคุณธรรม เป็นสังคมที่เป็นปึกแผ่น ร่มเย็นเป็นสุข โดยการใช้ศาสนธรรม มาร่วมกันคิดมาร่วมกันทำในชุมชน แม้จะมีความแตกต่างกันของการนับถือศาสนา แต่ก็เคารพคุณค่าระหว่างกัน มีความเข้าใจกันระหว่างศาสนา และหลีกหนีออกจากวัตถุนิยม 4.สังคมประชาธิปไตย เป็นสังคมที่ประชาชนมีส่วนในการกำหนดกลไกต่างๆ ทางสังคม มีเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เป็นสังคมประชาธิปไตยที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่ตามรูปแบบหรือกฎหมาย แต่ประชาชนเป็นผู้มีบทบาทในเนื้อหาสาระอย่างแท้จริงไม่ใช่บอกว่ามีการเลือกตั้งแล้วบอกว่านี่แหละประชาธิปไตย ทั้งที่การเลือกตั้งเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่การให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมคือสิ่งสำคัญที่สุด เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเราปฏิบัติได้อย่างแท้จริงและต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่ดีอยู่เย็นเป็นสุขได้ ทั้งหมดนี้จะเป็นปฏิบัติบูชาที่มีคุณค่ายิ่งต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีหน้าจะเป็นวโรกาสที่พระองค์จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ไม่มีสิ่งอื่นใดจะยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้ว หากเราช่วยกันขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้สังคมทุกภาคส่วนได้นำไปใช้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะยาว ผู้ดำเนินโครงการ 1. ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ หนูผึ้ง 2.จ.ส.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ฉายศรี